ต้นใบหูเสือ แก้ไอ แก้คออักเสบ
หูเสือ บำรุงเลือด กลิ่นหอมแรง คู่แข่งออริกาโน (oregano)
ใครที่ได้เห็นใบหูเสือเป็นครั้งแรก จะมีความรู้สึกว่าคนตั้งช่างเลือกชื่อได้เหมาะสมดีแท้ หูเสือไม่ใช่สมุนไพรที่โด่งดังคุ้นหูระดับท็อปเท็นของเมืองไทย แต่เป็นเสือซุ่มที่แทบทุกบ้านต้องมีไว้เป็นยาสามัญประจำบ้าน
หูเสือเป็นผักกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดร้อน มีรสเปรี้ยวแทรกอยู่เล็กน้อย โดยส่วนตัวแล้วชอบหูเสือมาก ทั้งกลิ่นที่หอมเฉพาะและรูปทรงของใบที่มีหยักสมดุล สวยงาม อวบอ้วน ดูเป็นใบไม้ที่ชัดเจนมั่นคงในตัวเองดี สมัยที่ยังเป็นเด็กนักเรียนบ้านนอก ถ้ารู้สึกง่วงนอนตอนอ่านหนังสือสอบจะลงไปเด็ดใบหูเสือขยี้ดมแล้วจะรู้สึกสดชื่นขึ้นทันที ทั้งที่ในสมัยนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องอโรมาเธอร์ราปีส์ด้วยซ้ำ ดังนั้นพอเห็นใบหูเสือทีไรก็จะอดเข้าไปทักทายแล้วถ่ายรูปเก็บไว้ไม่ได้
เมื่อมีโอกาสไปเยี่ยมเยียนหมอยาพื้นบ้าน ส่วนใหญ่ก็จะพบหูเสือปลูกอยู่ในกะละมังหรือเข่งเก่าๆ หูเสือไม่ใช่ผักหรือสมุนไพรที่โดดเด่นแต่ก็แปลกที่แทบทุกบ้านจะปลูกหูเสือเป็นไม้คู่บ้าน บ้านคนจีนจะปลูกไว้เป็นยาแก้ไอ ส่วนชาวบ้านในแถบภาคอีสานและภาคเหนือจะปลูกไว้เป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้าน คือเป็นทั้งยาบำรุงเลือดลม บำรุงร่างกาย ขับน้ำนมหลังคลอด และยังกินเป็นผักสามัญประจำบ้านด้วย โดยเฉพาะผักแกล้มลาบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นลาบเนื้อลาบปลาลาบไก่ลาบเป็ด หูเสือมีน้ำมันหอมระเหยสูงจึงช่วยย่อย แก้ท้องอืด และดับกลิ่นคาวได้ดีมาก และยังนิยมกินกับแจ่ว ป่น ซุบหน่อไม้ รวมทั้งนำมาใช้แทนใบกะเพราในการแกงกบ แกงปลาไหล ผัดหมูสับ เป็นต้น
นอกจากนี้กลิ่นของใบหูเสือยังคล้ายกับเครื่องเทศ “ออริกาโน” ที่ใช้โรยหน้าพิซซ่าอีกด้วย ท่านใดที่ชื่นชมกลิ่นหอมของออริกาโนสามารถใช้ใบของหูเสือตากในที่ร่มให้แห้งสนิท นำไปบดให้ละเอียดให้แทนออริกาโนได้เหมือนพี่น้องฝาแฝด
หมูสับหูเสือ อาหารพื้นบ้าน ต้านหวัด แก้ไอ
หูเสือ ช่วยเหลือขั้นต้น…แผลไฟไหม้ อักเสบบวม
หูเสือยังใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านในการรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก รักษาอาการบวม ตำพอกแก้ปวดข้อ ใช้ขยี้ทาเพื่อห้ามเลือด ใช้คั้นน้ำทาแผลเรื้อรัง ใช้คั้นน้ำหยอดหูเพื่อรักษาหูน้ำหนวก ใช้ดับกลิ่นปาก ใช้แก้ไข้ในเด็ก ใช้ขยี้ทาท้องเด็กเพื่อแก้ท้องอืด ป้องกันฟันผุ ใช้ขยี้ทารักษาหิด แมลงสัตว์กัดต่อย ใช้ใส่ในยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลง
ปัจจุบันการมีการศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า หูเสือมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ รา
หูเสือ ผักเป็นยา บำรุงร่างกาย คนโบราณมักบอกว่ากินหูเสือเป็นประจำจะทำให้ร่างแข็งแรง เลือดลมดี โดยเฉพาะในหน้าฝน ใบหูเสือจะสมบูรณ์แข็งแรง เพื่อให้คนนำมากินเป็นผักจิ้มน้ำพริก ลาบก้อย แจ่ว และยังสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารอื่นๆ เช่น ผัดหูเสือ
“ หูเสือผักสมุนไพร ใบสวยงาม กลิ่นหอมเฉพาะ แม้เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปแอฟริกา แต่คงมาเมืองไทยนานแล้ว จนคนไทยสามารถใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านได้อย่างหลากหลาย เป็นผักแกล้มที่ทำให้เรากินอาหารได้อย่างมีชีวิตชีวา ที่สำคัญคือปลูกและขยายพันธุ์ง่ายมาก จึงอยากให้ช่วยกันดูแลรักษาไว้เป็นสมุนไพรสามัญประจำบ้านกันต่อๆ ไป
|
มีสารต้านอนุมูลอิสระ ในกลุ่มเซนโทฟิล (Xanthophyll) , มีสารเบต้าแคโรทีน(Beta-carotene) วิตามิน ซี ใบมีกลิ่นหอมคล้ายสระแหน่ เด็ดใบมาเป็นเครื่องเคียงแนม กินกับลาบ, ยำ ,น้ำพริก หรือนำมาใช้เป็นเครื่องใช้ในการประกอบอาหาร เป็นพืชสมุนไพรปลูกง่ายมาก และสรรพคุณมากมาย
สรรพคุณ
- แก้ลดไข้นำใบมาคั้นน้ำ ดื่ม ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
สำหรับเด็กดื่ม 1-2 ช้อนชา ผู้ใหญ่ 1-2 ช้อนโต๊ะ
- แก้คัดจมูก นำใบมาต้ม สูดไอน้ำ เพื่อบรรเทา
- ลดเสมหะ นำใบสดมาต้ม ใส่ใบกระวานและกานพลูนิดหน่อยผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา ดื่ม
วันละ 2 ครั้ง ดื่มติดต่อกัน 3 วัน
- แก้หอบหืด นำใบมาต้มดื่ม เพื่อบรรเทา
สำหรับเด็กดื่มปริมาณ 5-10 มิลลิกรัม ผู้ใหญ่ 20-30 มิลลิกรัม
- เจ็บคอและไอ เด็ดใบสด ๆ 2 ใบ บดให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้ง 1/2 ช้อนชา
- แก้อาการนอนไม่หลับ นำใบมาต้ม ดื่มน้ำแทนน้ำชา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น